เครื่องเจียรไนลับคมตัด
เป็นเครื่องมือกลพื้นฐานประเภทหนึ่งที่ใช้สำหรับการลับคมตัด หรือการลดขนาดของชิ้นวัสดุ เช่นใช้ในการลับมีดกลึง มีดไสงาน ดอกสว่าน และใช้ในการเจียรไนเพื่อปรับรูปทรง
ประเภทของเครื่องเจียรไนลับคมตัด
โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือแบบตั้งโต๊ะและแบบตั้งพื้น
- แบบตั้งโต๊ะ (Bench Grinding) : ตัวเครื่องจะใช้ยึดติดกับโต๊ะเพื่อความสะดวกในการใช้งาน
- แบบตั้งพื้น (Floor Grinding) : จะมีขนาดใหญ่กว่าแบบตั้งโต๊ะ มีส่วนที่เป็นฐานเครื่อง เพื่อใช้ยึดติดกับพื้นทำให้มีความมั่นคงแข็งแรงกว่าแบบแรก
ส่วนประกอบของเครื่องเจียรไนแบบลับคมตัด

- มอเตอร์ (Motor) : เป็นส่วนที่สำคัญของเครื่อง โดยจะทำหน้าที่ส่งกำลังให้ล้อหินเจียรหมุน มอเตอร์ที่ใช้จะเป็นรูปทรงกระบอก ปลายแกนทั้งสองข้างจะใช้ในการจับยึดล้อหินเจียรไน มอเตอร์โดยส่วนใหญ่จะใช้แรงดันไฟฟ้า 220 โวลท์ หรือ 380 โวลท์
- ล้อหินเจียรไน (Grinding Wheel) : จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะ คือชนิดหยาบและชนิดละเอียด โดยจะยึดติดที่ปลายแกนทั้งสองข้างของมอเตอร์ ชนิดหยาบจะช่วยให้การเจียรไนเป็นไได้เร็วขึ้น ส่วนชนิดละเอียดจะใช้ในการเจียรไนผิวให้เรียบเป็นการเจียรไนในขั้นตอนสุดท้าย ในการเลือกหินเจียรไนมาใช้งานนั้น จะต้องเลือกให้ตรงกับประเภทของวัสดุที่นำมาใช้ในการเจียรไน ซึ่งวัสดุแต่ละประเภทต้องการประเภทของหินเจียรไนที่แตกต่างกัน และอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาด้ายนั่นก็คือ ขนาดของล้อหินที่จะนำมาประกอบเข้ากับแกนเพลาของตัวเครื่อง ซึ่งตัวเครื่องจะเป็นตัวกำหนดว่าจะต้องใช้หินเจียรไนที่มีขนาดเท่าไร โดยจะมีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วนที่ต้องพิจารณาคือ 1) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายนอกของล้อหิน 2) ความหนาของล้อหิน และ 3) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางรูในของล้อหิน

- ฝาครอบหินเจียรไน (Wheel Guard) : ใช้ครอบล้อหินเจียรไนทั้งสองข้าง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากล้อหิน โดยส่วนใหญ่แล้วจะทำด้วยเหล็กเหนียวขึ้นรูป

- กระจกนิรภัย (Safety Glass) : จะติดตั้งไว้ทางด้านหน้าของล้อหินเพื่อใช้ในการป้องกันเศษวัสดุกระเด็นเข้าตาของผู้ที่กำลังเจียรไน
- แท่นรองรับงาน (Tool Rest) : ใช้ทำหน้าที่ในการรองรับชิ้นงานและช่วยประคองมือผู้ปฏิบัติงาน โดยส่วนใหญ๋จะทำด้วยเหล็กหล่อขึ้นรูปหรือเหล็กเหนียว ระยะห่างระหว่างผิวของล้อหินกับแท่นรองงานควรห่างไม่เกิน 2-3 มิลลิเมตร และต้องหมั่นตรวจเช็คระยะห่างอยู่เสมอก่อนการปฏิบัติงาน
- ภาชนะใส่น้ำระบายความร้อน (Water Pot) : ความร้อนที่เกิดต่อชิ้นงานในขณะที่ได้ทำการเจียรไน ทำให้ร้อนมือ และยังมีผลต่อโครงสร้างของชิ้นงานด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการระบายความร้อนอยู่เสมอ โดยจุ่มลงในน้ำแล้วแกว่งชิ้นงานไปมาเพื่อระบายความร้อนได้เร็วขึ้น
- สวิตช์เครื่อง (Switch) : ใช้ในการควบคุมการเปิด-ปิดการทำงานของตัวเครื่อง
- ฐานเครื่อง (Base) : จะเป็นส่วนที่อยู่ด้านล่างสุดใช้ในการรองรับตัวเครื่องทั้งหมด จะทำจากเหล็กหล่อใช้ยึดติดกับพื้นหรือโต๊ะปฏิบัติงาน